บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

สมถกัมมัฏฐานของหลวงปู่ชั้ว

คำว่า “สมถกัมมัฏฐานของหลวงปู่ชั้ว” ก็คือการปฏิบัติธรรมของวิชาธรรมกายนั่นแหละ แต่ในเมื่อหลวงปู่ชั้วท่านเป็นผู้เขียน  จึงต้องตั้งชื่อแบบนั้น  หลวงปู่ชั้วท่านเขียน ไว้ดังนี้

สมถกัมมัฏฐาน ๔๐

แต่นี้ต่อไปจะกล่าวถึงกัมมัฏฐาน ๔๐ ก่อน ซึ่งจะใช้แต่เฉพาะกายโลกีย์ทั้ง ๘ คือ กายมนุษย์ กายมนุษย์ละเอียด, กายทิพย์ กายทิพย์ละเอียด, กายรูปพรหม กายรูปพรหมละเอียด, กายอรูปพรหม กายอรูปพรหมละเอียด

ถ้าจะทำกัมมัฏฐาน ๔๐ ต้องสับกายซ้อนกายเสียก่อนจึงจะทำได้คล่องแคล่ว คือให้ถอยกลับออกมาจากกายที่ ๘ ออกมากายที่ ๗, แล้วก็ออกมากายที่ ๖, แล้วก็ออกมากายที่ ๕ ....แล้วก็ออกมากายที่ ๑,

แล้วกลับเข้ากายที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ....ถึงกายที่ ๘, แล้วก็กลับออกมาจากกายที่ ๘ ....ออกมากายที่ ๑ ให้ฝึกสับกายซ้อนกายอย่างนี้สัก ๗ เที่ยว หรือให้มากกว่า ๗ เที่ยวก็ได้ ให้เป็นวสี และก็ให้กายมันใสนั่นเอง ให้ใสเป็นแก้วทุกกาย

ตรงนี้หมายความว่า ใครที่จะเรียนกสิณได้นั้น จะต้องผ่านวิชา 18 กายไปก่อน และผ่านอย่างเชี่ยวชาญด้วย จึงจะสามารถเรียนกสิณได้

แต่ที่หลวงปู่ชั้วกล่าวถึงนั้น เป็นการสับกายซ้อนกายเฉพาะกายโลกีย์จำนวน 8 กายเท่านั้น ซึ่งก่อนที่จะถึงขั้นตอนนี้ ก็ควรจะสับกายซ้อนกายในระดับวิชา 18 กายมาก่อน จึงจะได้ผลดีที่สุด

เมื่อกายใสดีแล้ว ให้เข้าตั้งกสิณในดวงทุติยมรรคของกายทิพย์ พอดวงทุติยมรรคใสและใหญ่เท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ นึกบริกรรมว่า ปฐวีกสิณัง  ดินก็เกิดขึ้นในดวงนั้นเป็นปฐวีกสิณ ใสเหมือนแก้ว,

พอจิตละเอียดนิ่งแน่นเลยดินลงไป น้ำก็ผุดขึ้นเป็น อาโปกสิณ ในกลางดวงดินนั้น ดินก็เพิกหายไป

เมื่อจิตละเอียดเลยน้ำลงไป ลมก็ผุดขึ้นเป็น วาโยกสิณ ในกลางดวงอาโปกสิณนั้น อาโปกสิณก็เพิกหายไป,

ผุดขึ้นแล้วก็เพิกหายไปเป็นลำดับ คือ ที่ ๔ ก็ เตโชกสิณ, ที่ ๕ ก็นิลกสิณ (สีเขียว), ที่ ๖ ปิตกสิณ (สีเหลือง), ที่ ๗ โลหิตกสิณ (สีแดง), ที่ ๘ โอทาตกสิณ (สีขาว), ที่ ๙ อาโลกกสิณ (แสงสว่าง), ที่ ๑๐ อากาสกสิณ (ว่างเปล่า),

จะเห็นการฝึกกสิณ 10 ขอวิชาธรรมกายนั้น ฝึกได้ครบทั้ง 10 กสิณ แล้วก็เป็นการฝึกที่ถูกต้อง คือ ฝึกอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 ซึ่งเป็นจุดอ่อนของมาร จะทำให้มารเข้าแทรกซ้อนปะปนได้ยาก

การฝึกกสิณของสายปฏิบัติธรรมอื่นๆ มักจะเป็นการฝึกกสิณนอกตัว ซึ่งเป็นกสิณของมาร และส่วนใหญ่แล้ว ก็จะอธิบายกันว่า ฝึกแบบเดียวก็พอ  ก็เหมือนกับการฝึก 10 อย่าง

ก็โกหกกันไป

พอจิตละเอียดเลยกสิณลงไปหนักเข้า กสิณก็เพิกหายไป ทีนี้อสุภะ ๑๐ ก็เกิดขึ้น คือกายเรานั้นเองเกิดขึ้นเป็นศพ ที่ ๑ เป็นศพที่ขึ้นพอง,

ที่ ๒ เป็นศพที่ขึ้นสีเขียว, ที่ ๓ เป็นศพที่ขึ้นอืดเต็มที่มีน้ำหนองไหล, ที่ ๔ เป็นศพที่ขาดปริ, ที่ ๕ เป็นศพที่ฝูงสัตว์กัดกิน, ที่ ๖ เป็นศพที่หลุดจากกัน, ที่ ๗ เป็นศพที่ขาดหลุดกระจัดกระจาย, ที่ ๘ เป็นศพที่เต็มไปด้วยเลือด, ที่ ๙ เป็นศพที่เต็มไปด้วยหมู่หนอน, ที่ ๑๐ เป็นศพที่เหลือแต่ร่างกระดูก

การฝึกอสุภะ 10 ของวิชาธรรมกายก็ง่ายมาก คือ เอากายของเราเป็นกรณีศึกษา ไม่ต้องไปเดินหาศพตามป่าช้า  ไม่ต้องไปหารูปภาพจากเน็ตต่างๆ ให้เสียเวลา

นอกจากนั้นแล้ว การฝึกอสุภะ 10 ในกายของเรา ตรงฐานที่ 7 นั้น เราจะไม่เกิดการกลัว หรือเห็นภาพที่น่กลัว จนกลายเป็นบ้าๆ

เพราะตอนนั้น สมาธิของเราดีมาก เป็นการศึกษาล้วน “รู้” และ “เข้าใจ” ตามสภาพความเป็นจริงล้วน  ไม่มีอาการกลัว หรือหวาดเสียวแต่อย่างใด

เมื่อจิตละเอียดนิ่งแน่นเลยอสุภะลงไป อสุภะก็เพิกหายไป อนุสสติ ๑๐ ก็เกิดขึ้น

พอจิตละเอียดเข้า ถึง พุทธานุสสติ คุณพระพุทธเจ้าก็เกิดขึ้น, พอจิตเข้าถึง ธัมมานุสสติ คุณพระธรรมก็เกิดขึ้น, พอจิตเข้าถึง สังฆานุสสติ คุณพระสงฆ์ก็เกิดขึ้น,

แล้วก็เกิดขึ้นตามลำดับไป, ที่ ๔ ระลึกถึง คุณของศีล คุณศีลก็เกิดขึ้น, ที่ ๕ ระลึกถึงคุณทาน คุณทานก็เกิดขึ้น, ที่ ๖ ระลึกถึงคุณที่ทำให้เกิดเป็นเทวดา คุณที่ทำให้เป็นเทวดาก็เกิดขึ้น,

ที่ ๗ ระลึกถึงกาย คุณที่ทำให้ระลึกถึงกายก็เกิดขึ้น, ที่ ๘ ระลึกถึงลมหายใจเข้าออก คุณที่ทำให้ระลึกถึงลมหายใจเข้าออกก็เกิดขึ้น, ที่ ๙ ระลึกถึงความตาย คุณที่ทำให้ระลึกถึงความตายก็เกิดขึ้น, ที่ ๑๐ ระลึกถึงคุณพระนิพพาน คุณที่ทำให้ระลึกถึงความดับทุกข์ก็เกิดขึ้น

กายทิพย์นี้ทำได้ ๓๐ ที่ตั้ง ดั่งนี้แล

จะเห็นว่า การฝึกสมถะกรรมฐานของวิชาธรรมกายตามคำอธิบายของหลวงปู่ชั้วนั้น ชัดเจน เป็นวิชาการ มีหลักฐานสนับสนุน 

ตั้งแต่กายมนุษย์จนถึงกายทิพย์ เราสามารถฝึกได้แค่สมถะกรรมฐาน 30 หัวข้อเท่านั้น เพราะที่เหลือเราะต้องใช้กายที่ละเอียดมากขึ้น นั่นก็คือ กายรูปพรหม กับกายอรูปพรหม

พอจิตละเอียดนิ่งแน่นเลยอนุสสติ ๑๐ ลงไป เข้าถึง เมตตาพรหมวิหาร พอจิตคิดรักใคร่ในสัตว์ทั่วไป ปฐมฌาน ก็เกิดขึ้นในกลางกายทิพย์ พร้อมกับรูปพรหมนั่งอยู่บนดวงฌาน ประกอบด้วย วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์

ดวงฌานนั้นกว้างสองวาหนาหนึ่งคืบ กลมเหมือนดวงจันทร์ ใสเหมือนกระจกส่องหน้า

พอจิตนิ่งแน่นละเอียดหนักเข้าถึง กรุณาพรหมวิหาร อยากจะให้สัตว์พ้นทุกข์ ทุติยฌานดวงที่ ๒ ก็ผุดขึ้นในกลางดวงปฐมฌาน ปฐมฌานก็เพิกหายไป วิตก วิจาร ก็หายไปด้วย, เหลืออยู่แต่ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์

พอจิตละเอียดนิ่งแน่นหนักเข้าไป ถึง มุทิตาพรหมวิหาร ความพลอยดีใจเมื่อผู้อื่นได้ดี ตติยฌานก็ผุดขึ้นในกลางดวงทุติยฌาน ทุติยฌานก็เพิกหายไป ปีติก็ละหายไปด้วย

พอจิตละเอียดนิ่งแน่นเข้าไปถึง อุเบกขาพรหมวิหาร ไม่ดีใจ ไม่เสียใจเมื่อผู้อื่นได้ทุกข์ จตุตถฌาน ฌานที่ ๔ ก็ผุดขึ้นมากลางดวงฌานที่ ๓ ฌานที่ ๓ ก็เพิกหายไป สุขก็หายติดไปด้วย เหลืออยู่แต่เอกัคคตารมณ์กับอุเบกขาที่ผุดขึ้นมากับฌานที่ ๔

กายรูปพรหมนี้ทำได้อีก ๔ ที่ตั้ง รวมเป็น ๓๔ กัมมัฏฐาน

ข้อดีข้อวิเศษของวิชาธรรมกายก็คือ ตรงนี้ เพราะเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า  ตรงนี้คือ การได้ฌาน 4 จากการฝึกสมถะกรรมฐาน

ในขณะที่สายปฏิบัติธรรมอื่นๆ ไม่เห็น “แผ่นฌาน” รู้เพียงแต่อารมณ์ฌานเท่านั้น วิชาธรรมกายเราจะเห็นแผ่นฌาณด้วย

สายปฏิบัติธรรมอื่นเวลาจะเปลี่ยนฌานนั้น จะสังเกตเอาจากอารมณ์ฌาน แต่วิชาธรรมกายเราเปลี่ยนที่แผ่นฌานกันเลย

เป็นวิชาที่มีคุณประโยชน์และสามารถเรียนได้อย่างรวดเร็ว

พอจิตละเอียดนิ่งแน่นหนักเข้า เลยรูปฌานทั้ง ๔ เข้าไป กายอรูปพรหมก็ผุดขึ้นในดวงตติยมรรคในกลางกายรูปพรหม

อรูปพรหมนั่งอยู่บนอากาศ (อากาสานัญจายตนะ) เห็นอากาศมีอยู่เต็มว่างกว้างสองวา หนาหนึ่งคืบ กลมเหมือนดวงจันทร์ ถ้าวัดกลมรอบตัวก็หกวา ถึงรูปฌาน ๔ วัดกลมรอบตัวก็หกวาเหมือนกัน

พอจิตละเอียดเลยอากาศหนักเข้าไป ก็คิดว่าอากาศนี้ยังหยาบนัก วิญญาณัญจายตนะ ก็ผุดขึ้นในกลางดวงอากาศ เป็นอรูปฌานที่สอง กว้างสองวา หนาหนึ่งคืบเหมือนกัน อากาศนั้นก็เพิกหายไป

พอจิตละเอียดนิ่งแน่นหนักเข้าเลยวิญญาณัญจายตนะเข้าไป ก็คิดว่าวิญญาณนี้ยังหยาบนัก อากิญจัญญายตนะ คือความว่างเปล่าไม่มีอะไรที่ละเอียดหนักยิ่งขึ้นไปอีก ก็ผุดขึ้นในกลาง ดวงวิญญาณัญจายตนะ เป็นอรูปฌานที่สาม วิญญาณัญจายตนะก็เพิกหายไป

ตรงอรูปฌานที่ ๓ นี้ที่พระพุทธเจ้าไปติดอยู่ที่สำนักของอาฬารดาบส ต้องไปเรียนต่อที่สำนักของอุทกดาบส

อุทกดาบสก็บอกให้ทำจิตให้ละเอียดให้ยิ่งขึ้น จนได้ เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เกิดขึ้นอีก เป็นกัมมัฏฐาน ๓๘ ที่ตั้ง

ข้อความตรงนี้ก็เช่นเดียว ส่วนใหญ่นักประวัติศาสตร์จะรู้ว่า เจ้าชายสิตธัตถะ ไปเรียนที่สำนักอาฬารดาบส แล้วก็ไปต่อที่อุทกดาบส แต่ไม่สามารถอธิบายโดยละเอียดได้ว่า ทำไมจึงต้องไปเรียนถึง 2 แห่ง

ที่ ๓๙ อาหาเรปฏิกูลสัญญา เห็นอาหารที่เขาบริโภค อาหารนั้นเป็นของละเอียดนัก ซึมซาบอยู่ในข้าวในน้ำ เหมือนเค็มซึมอยู่ในเกลือ หวานซึมอยู่ในน้ำตาล หล่อเลี้ยงร่างกายเราอยู่ทั่ว เบื้องบนถึงปลายผม เบื้องต่ำถึงปลายเท้า ข้าวน้ำนั้นก็กลั่นเป็นมูตรคูถไป,

ที่ ๔๐ จตุธาตุววัตถานะ เห็นธาตุหล่อเลี้ยงอาหารและร่างกายเรา เบื้องบนถึงปลายผม เบื้องต่ำถึงปลายเท้า ขนเส้นหนึ่ง ผมเส้นหนึ่ง ยาวไปแค่ไหน ธาตุก็รักษาไปตลอดแค่นั้น

เป็น ๔๐ กัมมัฏฐานด้วยกัน เรียกว่า สมถะภูมิ แต่ข้างในกายเราจึงจะเอา ถ้าเกิดข้างนอกเป็นทัศนูปกิเลส ใช้ไม่ได้

นี่เป็นการเรียน การฝึกสมถะกรรมฐาน 40 อย่างครบถ้วน มีคำอธิบายพร้อม มีหลักเกณฑ์ มีตำรา มีครูอาจารย์ให้ถามไถ่ได้


ผู้อ่านลองถามตัวเองดูว่า สายปฏิบัติธรรมในประเทศไทย จะมีใครสามารถอธิบายได้อย่างนี้อีก 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น