บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

นิพพาน ภพ 3 โลกันต์

หลวงปู่ชั้ว ท่านเขียนเรื่องนิพพาน ภพ 3 โลกันต์ ไว้ดังนี้

นิพพาน ภพสาม โลกันต์ มีอยู่ในกายมนุษย์ กายทั้งหมดทุกภพมีขันธ์ ๕ ทั้งนั้น แม้ชั้นอรูปพรหมก็มีขันธ์ ๕ เหมือนกัน ต่างแต่ขันธ์ ๕ ของชั้นนี้ละเอียดยิ่งนัก

ส่วนนรกก็ดี สัตว์โลกันต์ก็ดี ล้วนแต่มีขันธ์ ๕ ทั้งนั้น

ตรงนี้ขอพาดพิงไปยังคำสอนของพระปริยัติธรรมหรือผู้ปฏิบัติธรรมสายอื่นๆ ที่ชอบบอกว่า อรูปพรหมมีแค่ขันธ์ 4 

ดูความหมายของอรูปพรหมจาก วิกิพีเดีย ดังนี้

อรูปพรหม หรือ อรูปาวจรภูมิ สมัยที่โลกยังว่างจากพระพุทธศาสนา บรรดาโยคี ฤๅษี ชีไพรดาบส ที่บำเพ็ญตบะเดชะภาวนา รำพึงว่าอันว่าตัวตน กล่าวคืออัตภาพร่างกายนี้ไม่ดีเป็นนักหนา กอปรไปด้วย ทุกข์โทษหาประมาณมิได้

ควรที่ตูจะปรารถนากระทำตัว ให้หายไปเสียเถิด แล้วก็เกิดความพอใจเป็นนักหนา ในภาวะที่ไม่มีตัวตนไม่มีรูปกาย ปรารถนาอยู่แต่ในความไม่มีรูป

พวกนี้จึงสอนว่า อรูปพรหมไม่มีกาย มีแต่ใจ  บางกลุ่มก็อธิบายไปว่า “อ” แปลว่า “ไม่” ดังนั้น อรูปพรหมจึงไม่มีรูป มีแต่ใจ 

คำอธิบายดังกล่าวเป็นคำอธิบายที่มั่วมาก เพราะ ในเมื่อภพ 3 ทั้งหมด มีขันธ์ 5 ครบ แล้วทำไมอรูปพรหม ทั้งมีขันธ์ 5 ไม่ครบ 

ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ต้องมีคำอธิบายที่มีหลักฐานและยอมรับได้ในทางวิชาการมากกว่านี้  สำหรับวิชาธรรมกาย  อรูปพรหมมีกาย  แต่กายละเอียดมากขึ้น

จากการอ่านความหมายจากวิกิพีเดียนั้น ความเชื่อเรื่องอรูปพรหมไม่มีกายนั้น ก็มาจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ไม่ใช่ศาสนาพุทธเสียด้วย

แม้พระนิพพานก็มีขันธ์ ๕ แต่ว่าขันธ์ ๕ ของพระนิพพานนั้นท่านเรียกต่างออกไปอย่างนี้

๑) ขันธโลกในกายพระนิพพานนั้น เรียกว่า ธรรมขันธ์ แทนขันธ์ ๕
๒) สัตว์โลกในกายพระนิพพานนั้น ท่านเรียกว่า อริยสัจ แทนเรียกว่าสัตว์โลก
๓) อากาศโลกในกายพระนิพพานนั้น ท่านเรียกว่า ธรรมธาตุ แทนอากาศธาตุ คือ ธาตุ ๖ นั้นเอง เป็นอากาศธาตุ แต่ละเอียดสุขุมเย็นสนิทยิ่งนัก

นิพพานในศูนย์กำเนิดกลางกายมนุษย์เข้าไปเรียกว่า นิพพานเป็น หรือ สอุปาทิเสสนิพพาน อยู่ในกายมนุษย์

ตรงนี้ขออธิบายเพิ่มเติมว่า คำว่า “นิพพานเป็น” ในวิชาธรรมกายมี 2 ความหมาย  ความหมายแรกก็คือ นิพพานที่อยู่ที่ฐานที่ 7 ในท้องของเรา

กายธรรมต่างๆ นั้น อยู่ที่ไหนไม่ได้เด็ดขาด ต้องอยู่ในอายตนะนิพพาน เพราะ กายต้องมีภพรองรับ กายจะอยู่ลอย โดยไม่มีภพไม่ได้

เมื่อมีกายธรรมอยู่ในท้องของเรา ดังนั้น ก็ต้องมีภพ คือ อายตนะนิพพานในท้องของเราด้วย  พูดให้ชัดๆ ก็คือ อยู่ตรงฐานที่ 7 เหนือระดับสะดือ 2 นิ้วมือของใครของมัน

นิพพานเป็นความหมายที่ 2 ก็คือ พระพุทธเจ้าที่เข้านิพพานทั้งกายเนื้อ ไม่ต้องปรินิพพานก่อน  นิพพานเป็นนั้น รูปร่างเหมือนพระหนุ่มๆ ไม่ใช่กายธรรม

ส่วนนิพพานที่อยู่ข้างบน เหนือภพสามขึ้นไป ๓ เท่าของภพสามนั้น เป็นที่เสด็จอยู่ของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันต์ขีณาสพทั้งหลายที่นิพพานไปแล้วนั้น ท่านเรียกว่า อายตนนิพพาน หรือ อนุปาทิเสสนิพพาน

เป็นนิพพานที่มีศูนย์ตรงกันกับศูนย์นิพพานเป็น หรือที่เรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพานที่อยู่ในกายมนุษย์ เมื่อธาตุธรรมเดินฌานสมาบัติตกสูญนิพพานเป็นแล้ว ก็เป็นอันเข้าสู่ศูนย์อายตนนิพพานด้วย

อายตนนิพพานเบื้องบนนั้น ก็ดึงดูดธาตุธรรมขึ้นไปสู่อายตนนิพพาน ไม่ผิดอะไรกับกายทิพย์เมื่อจะตั้งปฏิสนธิในครรภ์มารดา

ถ้าตกสูญแล้ว ศูนย์กำเนิดเดิมซึ่งตั้งอยู่ขั้วมดลูกของมารดา ก็ดึงดูดกายทิพย์เข้าไปตั้งอยู่กลางกำเนิดมดลูกฉะนั้น

ก็เหมือนกับอนุปาทิเสสนิพพานที่อยู่เหนือขอบภพสามขึ้นไป ๓ เท่า นั้น ดึงดูด สอุปาทิเสสนิพพานที่อยู่ในกายมนุษย์ขึ้นไปติดอยู่ในอายตนนิพพาน เพราะมีอายตนะด้วยกัน

สอุปาทิเสสนิพพานก็มีอายตนะ อนุปาทิเสสนิพพานก็มีอายตนะ เมื่อธาตุธรรมเดินสมาบัติตกสูญตรงกันเข้าก็ดึงดูดเข้าไปติดกัน เหมือนอายตนะในตากับอายตนะในรูป เมื่อตกสูญตรงกันเข้าก็ดึงดูดเข้าไปหากันฉะนั้น

จะเห็นว่า คำอธิบายของหลวงปู่ชั้วนั้น สมเหตุสมผลในตัวเอง คือ นิพพานเป็นในท้องของเรา ศูนย์ตรงกับอายตนะนิพพาน  เมื่อเราตกสูญเห็นกายธรรมพระอรหัต เราก็ถูกศูนย์อายตนะนิพพานดูดไปเข้าอายตนะนิพพาน

ตรงนี้ ถ้าจะอธิบายแบบวิทยาศาสตร์หน่อยก็คือ  ฐานที่ 7 เป็นรูหนอน (Wormhole) ที่พาเราไปอายตนะนิพพานได้ ทำนองนั้น


แต่ส่วนนิพพาน ที่ท่านกล่าวไว้ในพระบาลีนั้น ทำไมเหมือนกับปิดๆ บังๆ อมอำอยู่ชอบกล ข้าพเจ้า ได้คัดลอกมาจากคำแปล แต่ไม่ได้เขียนตัวบาลีไว้ด้วย เพราะข้าพเจ้าแปลไม่เป็น จึงเอาแต่คำแปลมาลงไว้เท่านั้น ท่านกล่าวไว้ ๓ ข้อ

ข้อ ๑. กล่าวว่า “ภิกษุทั้งหลาย ! อายตนะนั้น มีอยู่, ที่ดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่มีแล, อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ ก็มิใช่, โลกนี้ก็มิใช่ โลกอื่นก็มิใช่ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ทั้งสองก็มิใช่,

อนึ่ง ภิกษุทั้งหลาย ! เราไม่กล่าวเลยซึ่งอายตนะนั้นว่า เป็นการมา เป็นการไป เป็นการตั้งอยู่ เป็นการจุติ เป็นการเกิด, อายตนะนั้นหาที่ตั้งมิได้ มิได้เป็นไป หาอารมณ์มิได้ นั่นแลที่สุดแห่งทุกข์

นี่จะเอาความอย่างไร ท่านไม่ได้เอาของในนิพพานมากล่าวเลย ในนิพพานมีกล่าวแต่อายตนะเท่านั้น ท่านกล่าวก็ไม่ผิด เพราะดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่มีในนิพพาน, อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ ก็ไม่มีในนิพพาน มีอยู่แต่ในอรูปภพเท่านั้น,

โลกนี้ โลกอื่น ก็ไม่มีในนิพพาน มีอยู่แต่ในมนุษย์โลก เทวโลก พรหมโลก มารโลก, ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ทั้งสองก็ไม่มีในนิพพาน มีอยู่แต่สำหรับโลกมนุษย์เท่านั้น, ของที่กล่าวไว้นี้ไม่มีในนิพพานเลย แล้วใครจะรู้ว่านิพพานอยู่ไหน

ข้อ ๒. นั้นว่า “ธรรมนี้เป็นสภาพลึก เห็นได้ยาก ตรัสรู้ได้ยาก เป็นธรรมสงบ ประณีต คิดเดาไม่ได้ ละเอียด เป็นวิสัยที่บัณฑิตพึงรู้

นี้ก็เทียบๆ นิพพานไปแล้ว แต่ถ้าคนไม่รู้เรื่องในนิพพานแล้ว เอาความไม่ได้เลย

ข้อ ๓. นั้นว่า “ธรรมชาตินั้นสงบแล้ว ธรรมชาตินั้นประณีต ธรรมชาติไรเล่าเป็นที่สงบแห่งสังขารทั้งปวง เป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่สิ้นราคะ เป็นที่ดับ คือนิพพาน

นี่ท่าน กล่าวแต่เพียงธรรมชาติในนิพพานเท่านั้น แต่ตำแหน่งที่อยู่ของนิพพานท่านไม่กล่าวว่าอยู่ที่ไหน จึงเอาความยาก

ครั้นจะว่าให้มากไป ข้าพเจ้าก็กลัวว่าจะเป็นการตู่พระพุทธวัจนะ เพราะเป็นของในบาลี ข้าพเจ้าก็กลัวบาปอยู่เหมือนกัน

แต่ส่วนในนิพพานอย่างที่พวกมีธรรมกายไปพบไปเห็นมานั้น ล้วนแต่สมบัติวิเศษเป็นแก้วทั้งนั้น กายพระพุทธเจ้าเองก็ใสเป็นแก้ว แล้วสิ่งอื่นๆ ก็ล้วนแก้ววิเศษทั้งนั้น

เช่น แก้วจุลจักรพรรดิ แก้วมหาจักรพรรดิ แก้วบรมจักรพรรดิ ที่มนุษย์ผู้มีบุญวาสนาได้มาใช้กันนั้น ก็ต้องส่งมาจากนิพพาน, หรือแก้วทิพยจุลจักรพรรดิ แก้วทิพยมหาจักรพรรดิ แก้วทิพยบรมจักรพรรดิ ที่พวกเทวดา พรหม ที่มีบุญวาสนายิ่งใหญ่ใช้กัน ก็ล้วนแต่ส่งมาจากนิพพานทั้งนั้น,

ยังแก้วพุทธจุลจักรพรรดิ แก้วพุทธมหาจักรพรรดิ แก้วพุทธบรมจักรพรรดิ ที่ใช้กันอยู่ในนิพพานนั้น แต่ละอย่างๆ มีมากมายนับอสงไขยไม่ถ้วน ล้วนแต่เป็นแก้วกายสิทธิ์วิเศษทั้งนั้น ทำไมท่านจึงไม่กล่าวไว้ในบาลี

แต่ว่าเมื่อพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่นั้น คงจะตรัสเทศนาไว้หมดทุกอย่าง แต่ในคัมภีร์เก่าๆ มีกล่าวอยู่บ้าง เช่นที่ว่า “เป็นพระอรหัตตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน เข้าถึงเมืองแก้ว กล่าวแล้วคือนิพพาน” เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีกล่าวถึงนิพพาน หมดเข้าไป เสื่อมเข้าไปอย่างที่เห็น ๆ

เดี๋ยวนี้พระศาสนาก็ล่วงเลยมาสอง พันกว่าปีแล้ว น่ากลัวพระพุทธวัจนะจะคลาดเคลื่อนไปมาก จนไม่มีใครรู้เรื่องนิพพานเสียเลย

ลงเห็นว่า นิพพานไม่มีแล้ว ภาคดำเขาก็คอยสอดญาณละเอียดเข้าในเห็น จำ คิด รู้ ของพวกอรรถกถาจารย์ ให้แต่งแก้พระพุทธวัจนะ ให้เลอะเลือนคลาดเคลื่อนอยู่เสมอ

เพราะนิพพานเป็นจุดสำคัญ พระพุทธเจ้าพระอรหันต์จึงปรารถนามุ่งหมายนัก ภาคดำเข้าก็หวงแหน ปิดบังอย่างสุดขีด


เพราะว่า ถ้าสัตว์ยังเวียนว่ายอยู่ในภพสามตราบใด ภาคดำเขาก็ต้มเล่นอย่างสนุก ถ้าถึงนิพพานเสียแล้วมันก็ไม่กลัวกัน ฉะนั้น เขาจึงขัดขวางจนสุดฤทธิ์



พระพุทธเจ้าตรัสรู้ [3]

มาถึงตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ

เมื่อเข้าถึงกายธรรมกายโคตรภูนี้แล้ว ก็พิจารณาเห็นอริยสัจทั้ง ๔

เห็นกายมนุษย์ เป็นทุกข์ ด้วยเกิด แก่ เจ็บ ตาย,
เห็นกายทิพย์ เป็นสมุทัย เที่ยวหาที่เกิดไม่สิ้นสุด,
เห็นกายรูปพรหมกับกายอรูปพรหม เป็นนิโรธ เพื่อดับทุกข์,
เห็นธรรมกาย เป็นมรรค เพื่อหลีกออกจากทุกข์ แล้วก็เดินสมาบัติ พิจารณาอริยสัจทั้ง ๔

ข้อความตรงนี้จะเห็นว่า อธิบายได้ชัดเจนที่สุดในเรื่องการพิจารณาอริยจสัจ 4  ไม่มีนักปริยัติ หรือสายปฏิบัติธรรมอธิบายได้ชัดแจ้งอย่างนี้อีกแล้ว

ประการสำคัญที่สุดก็คือ มีความสอดคล้องเป็นเรื่องเดียวกัน ไม่ขัดแย้งกัน

วิชาธรรมกายนั้น ตั้งแต่หลักสูตรเริ่มต้น จนบรรลุพระอรหันต์ไม่มีความขัดแย้งกันในคำอธิบายและวิธีการปฏิบัติ

ขอยกตัวอย่างเรื่องการปฏิบัติของพระพม่า  พระพม่า “รู้สึกตัว” ตลอดเวลา ด้วยการพิจารณาอยู่กับร่างกายตนเอง รวมถึงจิตใจความคิด

แต่พออธิบายถึงการปฏิบัติธรรมในขั้นสูงเข้า  กับไม่มีการปฏิบัติแบบพื้นฐาน ที่ให้คงความรู้สึกกับตัวเอง กลับมั่วไปขโมยญาณ 16 ของคัมภีร์วิสุทธิมรรคมาอธิบายมั่วไปหมด

ที่เรียกว่า “สมาบัติ” นั้น ก็คือรูปฌาน อรูปฌานนั่นเอง แต่เดินคนละกาย รูปฌาน อรูปฌานนั้น เดินด้วยกายรูปพรหมและกายอรูปพรหม ซึ่งเป็นกายโลกีย์ จึงเรียกว่า ฌานโลกีย์

แต่รูปสมาบัติ อรูปสมาบัตินั้น เดินด้วยกายธรรมกาย เป็นกายโลกุตตระ จึงเรียกว่า ฌานโลกุตตระ

แล้วเอากายธรรมกายโคตรภูเดินสมาบัติดู ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เรื่อยไป จนธรรมกายตกสูญแล้วเกิดธรรมกายขึ้นใหม่ใสละเอียดกว่าเก่า

นี้เป็น นิโรธ เพื่อดับเหตุแห่งทุกข์หยาบ เมื่อถึงธรรมกายแล้ว จึงเป็นนิโรธเพื่อดับเหตุแห่งทุกข์ละเอียดจริงๆ

ที่ เรียกว่า “ตกสูญ” นั้น คือเดินสมาบัติหนักเข้าจนธรรมกายนั้นใส แล้วดับลงมาเป็นดวงกลมใสขนาดเท่าฟองไข่แดงของไก่อยู่ที่เหนือสะดือสองนิ้ว มือ อย่างนี้เรียกว่าตกสูญ

แล้วก็เกิดขึ้นเป็นธรรมกายใสสะอาดดีกว่าเก่า แล้วก็เดินสมาบัติให้ตกสูญ แล้วเกิดขึ้นใหม่ จนเข้าถึงกายพระโสดาปัตติมรรค

แล้วเอากายพระโสดาปัตติมรรคเดินสมาบัติพิจารณาอริยสัจทั้ง ๔ ให้ตกสูญแล้วเกิดขึ้นใหม่

ตรงนี้จะเห็นว่า การปฏิบัติธรรมแบบวิชาธรรมกายมีความคงที่ คือ ต้องทำให้เห็นดวงธรรม แล้วเข้ากลางดวงธรรมก็จะไปเกิดกายละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ

กิเลสและสังโยชน์จะอยู่ตามกาย เมื่อหลุดจากกายนั้น กิเลสหรือสังโยชน์ก็หลุดไป นี่ก็เป็นคำอธิบายที่สมเหตุสมผล และสามารถปฏิบัติตามได้

จนเข้าถึงกายพระโสดาปัตติผล เป็นพระอริยบุคคลชั้นที่หนึ่ง เห็นอริยสัจทั้ง ๔ ละเอียดชัดเจนยิ่งกว่าปุถุชนหรือโคตรภูบุคคล [เป็นกิจ ๔]

แล้วเอาธรรมกายพระโสดาปัตติผลเดินสมาบัติดู ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค จนตกสูญแล้วเกิดขึ้นใหม่ จนเข้าถึงกายพระสกิทาคามิมรรค

แล้วเอาธรรมกายพระสกิทาคามิมรรคเดินสมาบัติดูทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค จนตกสูญแล้วเกิดขึ้นใหม่ จนเข้าถึงกายพระสกิทาคามิผล เป็นพระอริยบุคคลชั้นที่สอง

เห็นอริยสัจทั้ง ๔ ละเอียดชัดเจนยิ่งกว่าพระโสดาบัน [รวมเป็นกิจ ๘]

แล้วเอากายพระ สกิทาคามิผลเดินสมาบัติดู ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค จนตกสูญแล้วเกิดขึ้นใหม่ จนเข้าถึงธรรมกายพระอนาคามิมรรค

แล้วเอาธรรมกายพระอนาคามิมรรคเดินสมาบัติดู ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ตกสูญแล้วเกิดขึ้นใหม่ จนเข้าถึงธรรมกายพระอนาคามิผล เป็นพระอริยบุคคลชั้นที่สาม

เห็นอริยสัจทั้ง ๔ ละเอียดชัดเจนยิ่งกว่าพระสกิทาคามี [รวมเป็นกิจ ๑๒]

แล้วเอาธรรมกาย พระอนาคามิผลเดินสมาบัติดู ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ตกสูญเกิดขึ้นใหม่ จนเข้าถึงธรรมกายพระอรหัตมรรค

แล้วเอาธรรมกายพระอรหัตมรรคเดินสมาบัติดู ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ตกสูญเกิดขึ้นใหม่ จนเข้าถึงธรรมกายพระอรหัตผล เป็นพระอริยบุคคลชั้นที่สี่

เห็นอริยสัจทั้ง ๔ ละเอียดชัดเจนยิ่งกว่าพระอนาคามี [รวมเป็นกิจ ๑๖] เรียกว่า โสฬสกิจ อยู่จบพรหมจรรย์ ไม่ต้องทำกิจอีกต่อไป

พอเข้าถึงธรรมกายพระอรหัต ก็รู้ชัดว่าพระองค์เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยไม่ต้องสงสัย กายทั้ง ๑๘ กายนี้เป็นกายโลกีย์เสีย ๘ กาย ตั้งแต่กายมนุษย์ ทิพย์ รูปพรหม และกายอรูปพรหม ทั้งหยาบทั้งละเอียด ทั้ง ๘ กายนี้ถึงจะเข้าฌานด้วยกายไหนก็เป็นฌานโลกีย์ทั้งสิ้น

กายธรรมกายตั้งแต่โคตรภูเข้าไปจนถึงธรรมกายพระอร หัตแล้วธรรมกายในธรรมกายพระอรหัตเข้าไปอีก เป็นกายเถา กายชุด กายชั้น กายตอน กายภาค กายพืด กายพืดในกายพืด จนนับอสงไขยไม่ถ้วน นี้ล้วนแต่เป็นกายโลกุตตระทั้งนั้น

จะเข้าฌานด้วยกายไหนก็เป็นฌานโลกุตตระทั้งนั้น ถ้าจะเข้านิพพานก็เข้าด้วยกายโลกุตตระ ทิ้งกายโลกีย์ไว้ในภพสาม

ถึงกายโลกีย์ก็ต้องทิ้งกันเป็นชั้นๆ ไปเหมือนกัน เช่นจะไปเกิดในสวรรค์ นรก เปรต อสุรกาย ก็ต้องถอดเอากายมนุษย์ละเอียด (ซึ่งมีกายทิพย์ซ้อนอยู่) ไปเกิด (ถ้ากำลังแสวงหาที่เกิดก็เรียกว่า กายสัมภเวสี, ถ้าหาที่เกิดได้แล้ว เรียกว่า กายทิพย์)

ทิ้งกายมนุษย์หยาบไว้ในโลกมนุษย์ ส่วนใจ จิต วิญญาณของมนุษย์ก็ดับอยู่กับกายมนุษย์นั้นแล

ถ้าได้รูปฌาน จะไปเกิดในพรหมโลก ก็ต้องถอดเอากายรูปพรหมไปเกิด ทิ้งกายทิพย์ไว้ในเทวโลก ส่วนใจ จิต วิญญาณของกายทิพย์ก็ดับอยู่กับกายทิพย์นั้นแหละ

ถ้าได้อรูปฌาน จะต้องไปเกิดในอรูปภพ ก็ต้องถอดเอากายอรูปพรหมไปเกิด ทิ้งกายรูปพรหมไว้ในพรหมโลก ส่วนใจ จิต วิญญาณของรูปพรหมก็ดับอยู่กับกายรูปพรหมนั้นแหละ

ถ้าจะลงมา เกิดในมนุษย์อีก ก็ต้องเข้าซ้อนในกายรูปพรหม แล้วเข้าซ้อนในกายทิพย์ แล้วเข้าซ้อนในกายมนุษย์ (ละเอียด-หยาบ) ในครรภ์มารดาตามเดิม

ถ้าจะ เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน มันเป็นกายสัตว์อยู่แต่ข้างนอก กายข้างในของมันก็มีกายมนุษย์ กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหม กายธรรม เหมือนมนุษย์เราเหมือนกัน

ตรงนี้ขอยืนยันว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆ  สัตว์มี 18 กาย กายละเอียดก็เช่นเดียวกับมนุษย์ แต่กายนั้นดำ ไม่ใสสว่าง  ดังนั้น วิชาธรรมกายจึงสามารถคุยกับสัตว์ได้

วิธีการก็คือ  เราก็เอาใจของเราไปตามฐาน 1-2-3 และ 7 ของสัตว์  เมื่อไปเห็นกายฝันหรือกายสัตว์ละเอียดแล้ว [ถ้าเป็นมนุษย์คือกายมนุษย์ละเอียด] ก็เข้าไปหาดวงธรรมของกายนั้น

ต่อไปก็เอาดวงธรรมของเราที่ประกอบไปด้วย เห็น จำ คิด รู้ ไปรวมกับดวงธรรมของสัตว์นั้น ให้เป็นดวงเดียวกัน แล้วก็พูดคุยซักถามกันได้

ถ้าใครทำวิปัสสนา เข้าถึงธรรมกายแล้วไปถามบุรพกรรมของสัตว์เหล่านั้นดูได้ ว่าทำ บุรพกรรมอย่างไรจึงได้เกิดเป็นสัตว์ กายในของมันจะบอกให้ฟังอย่างละเอียดลออ

ไม่ว่าสัตว์ชนิดใดบอกได้หมดทุกตัว เพราะกายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหมนั้นไม่มีแก่ ไม่มีเจ็บ มีแต่เกิดเท่านั้น มันก็จำชาติหนหลังได้

ส่วนกายมนุษย์และสัตว์เดรัจฉาน มันมีทั้งเกิด ทั้งแก่ ทั้งเจ็บ ทั้งตาย มันก็จำชาติหนหลังไม่ได้


ข้อความสุดท้ายนี้ ผมก็เพิ่งเข้าใจเหมือนกันว่า ทำไมมนุษย์จึงจำชาติเดิมๆ ไม่ได้  ยกเว้นบางคนที่สามารถระลึกชาติได้ 



พระพุทธเจ้าตรัสรู้ [2]


มาถึงตอนที่พระยามารและลูกสาวทั้ง 3 ตนมาขัดขวางเจ้าชายสิทธัตถะ

ตอนนี้เป็นตอน สำคัญที่พระอาจารย์บางท่านตัดออกเสียหมด เพราะท่านไม่รู้เรื่องกายในกายว่ามีกันอย่างไร

ท่านก็คิดเอากายมนุษย์ของพระสิทธัตถราชกุมาร ที่นั่งอยู่โคนไม้ศรีมหาโพธิ ไม่พอกับช้างของพระยามารซึ่งสูงตั้ง ๑๕๐ โยชน์ ท่านก็เลยตัดเรื่องมารประจญออกหมด

หาว่า พระอรรถกถาจารย์แต่ก่อน ยกย่องพระพุทธเจ้าเกินความเป็นจริงไป เห็นว่าพระพุทธเจ้าก็คนอย่างเรา ไม่มีอภินิหารวิเศษอะไร

เรื่องการตีความใหม่ให้กับพุทธประวัติในช่วงนี้ เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ต่อเนื่องมาถึงรัชกาลที่ 4  ผู้ที่ตีความใหม่เป็นคนแรกเลยก็คือ พระวชิรญาณภิกขุ ซึ่งต่อมาก็คือ รัชกาลที่ 4 นั่นแหละ

สาเหตุก็คือ ได้รับความรู้ใหม่คือ วิทยาศาสตร์ ปรัชญา ความเป็นเหตุเป็นผล ซึ่งดูแล้วทันสมัยก้าวหน้ากว่า  ก็เลยไม่เชื่อคำสอนในพระไตรปิฎก ที่ไม่สามารถเข้ากับวิทยาศาสตร์ได้

ท่านก็คิดเป็นปุคคลาธิษฐาน ธัมมาธิษฐานอะไรของท่านไป หาว่าลูกสาวพระยามาร ๓ คนนั้น เป็นจิตของพระองค์คิดขึ้นต่างหาก

เมื่อนางตัณหาเข้ามาประเล้าประโลมนั้น หาว่าเป็นจิตของพระองค์ที่คิดอยากจะกลับเข้าไปครอบบ้านครองเมือง,

เมื่อนางราคาเข้ามาประเล้าประโลมนั้น ก็หาว่าจิตของพระองค์หวนคิดถึงพิมพา ราหุล,

เมื่อนางอรตีเข้ามาประเล้าประโลมนั้น ก็หาว่าจิตของพระองค์คิดอยากจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เมื่อพระองค์ได้ขับไล่นางทั้งสามให้หนีไปแล้วก็ว่าเท่ากับพระองค์เลิกคิด,

เมื่อนางทั้งสามกลับไปกันแล้ว พระยามารก็ยกกองทัพเข้ามา ก็ (ว่า) เท่ากับจิตของพระองค์เกิดฟุ้งซ่านด้วยนิวรณ์ ๕ ประการ

พระยามาร นางตัณหา นางราคา นางอรตีนั้นมีจริงๆ เป็นมารกายละเอียด พระยามารตนนี้ ไม่ถือว่า เก่งกาจอะไรนัก ยังมีมารที่เก่งกว่านี้อีกมาก

เรื่องมารนี้ พวกวิทยากรของคุณลุงรู้จักกันดี  ผมนี่ก็ค่อนข้างจะรู้จักดีเป็นกรณีพิเศษ

ของท่านก็เข้าที น่าให้คิดแบบนั้นเหมือนกัน สำหรับคนที่ไม่รู้เรื่องกายในกายก็ต้องคิดไป อย่างนั้น เพราะช้างคิริเมขลมหาคชสารนั้นสูงถึง ๑๕๐ โยชน์ และต้นโพธิที่พระองค์นั่งสูงเพียง ๑๒๐ ศอก เป็นเส้นหนึ่งกับสิบวาเท่านั้น จึงไม่พอกัน

ข้าพเจ้า (พระครูวินัยธร ชั้ว) จึงลองย่นสเกลดู ย่นโยชน์ลงเป็นเซนติเมตร เขียนรูปช้างสูง ๑๕๐ เซนติเมตร เฉพาะเล็บช้างวัดได้ ๕ เซนติเมตร

แล้วช้างคิริเมขลสูงถึง ๑๕๐ โยชน์ ขยายเล็บออกไปได้ ๕ โยชน์ เมื่อพระยามารขี่แล้วไส (ช้าง) เข้ามาจะชิงบัลลังก์นั้น

ถ้าพระองค์แลด้วยมังสะจักษุ (ตากายมนุษย์) ของพระองค์แล้ว อย่าว่าแต่เห็นหน้าพระยามารหรือหน้าช้างเลย เพียงแต่ครึ่งเล็บช้างก็ยังมองไม่เห็นเลย

เพราะตากายมนุษย์แลเห็นเพียงโยชน์เดียวเท่านั้น เล็บช้างตั้ง ๕ โยชน์ แล้วเป็นของทิพย์ด้วยจะไปแลเห็นได้อย่างไร

ตรงนี้ ขอแก้ข้อมูลของหลวงปู่ชั้วนิดหนึ่ง หลวงปู่คงไม่ว่าอะไร ปัจจุบันนี้ นักวิทยาศาสตร์รู้แล้วว่า สายตาของคนมองได้ไกลกว่า 1 โยชน์ คือมองไปได้หลายปีแสงเลยทีเดียว

ความจริงไม่เป็นอย่างนั้น พระองค์ไม่ได้แลเห็นด้วยตากายมนุษย์ พระองค์เห็นด้วยตากายอรูปพรหม เป็นสมันตจักษุ เลยทิพยจักษุ เลยปัญญาจักษุ เข้าไปจวนถึงพุทธจักษุ เป็นอจินไตย์อยู่แล้ว

อย่าว่าแต่ช้างคิริเมขลตัวเดียวเลย ถึงจะซ้อนกันขึ้นไปอีกสักกี่ตัว ก็ยังต่ำกว่าบัลลังก์ที่พระองค์นั่งเสียอีก เพราะพระยามารและเสนามารที่เข้ามาประจญนั้น ล้วนแต่เป็นกายทิพย์กันทั้งนั้น

พระพุทธเจ้าปะทะด้วยกายอรูปพรหม เป็นอจินไตยกว่า ละเอียดกว่า สูงกว่า พวกกายทิพย์ก็สู้ไม่ได้ ถึงพระพุทธเจ้าภาคดำจะขัดขวางอย่างไร พระพุทธเจ้าภาคขาว (ต้นธาตุต้นธรรม) ของพระพุทธเจ้าก็คอยปะทะไว้เหมือนกัน

ของมีตัวจริงทั้งนั้น เช่นพระยามาร เสนามาร ลูกสาวพระยามาร ก็ล้วนมีตัวตนอยู่ทั้งนั้น แต่เป็นกายทิพย์ ตามนุษย์เรามองไม่เห็น

ต้องทำให้ถึงทิพยจักษุ ปัญญาจักษุ หรือสมันตจักษุ จึงจะแลเห็น เพราะเป็นของละเอียด ยิ่งกายพระพุทธเจ้า (ธรรมกาย) ด้วยแล้ว ต้องมองด้วยพุทธจักษุจึงจะเห็น

ที่อาจารย์บางท่านแต่งกันขึ้นใหม่ๆ ประมาณสัก ๔๐ ปี มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๐ มานี้ได้ตัดอภินิหาร ปาฏิหาริย์ของพระพุทธเจ้าออกหมดนั้น เพราะไม่รู้เรื่องกายในกายนั่นเอง จึงได้ตัดบารมีอภินิหารออกหมด

ทำเอาแบบแผนของจริงเลอะเลือนไปไม่ใช่น้อย ความจริงที่พระอรรถกถาจารย์กล่าวไว้นั้น ก็ยังไม่ละเอียดเท่าความเป็นจริงเสียอีก ท่านย่อ ๆ ไว้เท่านั้น

ถึงข้าพเจ้าผู้เขียนนี้ก็ต้องย่อไว้เหมือนกัน จะเขียนให้ละเอียดเต็มที่ก็ไม่ไหว เรื่องของท่านละเอียดนัก

ทีนี้ จะกล่าวเมื่อพระยามารพ่ายแพ้ไปแล้ว กายธรรมกายก็เกิดขึ้นในกลางดวงจตุตถมรรค ในกลางกายอรูปพรหม (กายที่ ๘) ของพระสิทธัตถะราชกุมาร

กายนี้เหมือนพระพุทธรูป เกตุแหลมเป็นดอกบัวตูม ใสเป็นแก้ว กายนี้เป็นกายที่ ๙ ของพระสิทธัตถะราชกุมาร กายนี้แลเป็นกายพระพุทธเจ้า

พอเข้าถึงกายนี้เรียกว่า โคตรภูญาณ ระลึกชาติหนหลังได้แล้ว เข้ากายไปร้อยกายพันกาย ก็ระลึกชาติได้ร้อยชาติพันชาติ เข้าไปได้หมื่นกายแสนกาย ก็ระลึกชาติได้ร้อยชาติพันชาติ เข้าไปได้หมื่นกายแสนกาย ก็ระลึกชาติได้หมื่นชาติแสนชาติ

เข้าไปจนนับกายไม่ถ้วนก็ระลึกชาติได้นับไม่ถ้วนเหมือนกัน พระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหนก็ไปพบปะกันหมด ไปพูดจาปราศรัยกันได้หมดทั้งภาคขาว ภาคกลาง ภาคดำ

ตรงนี้ขออธิบายเพิ่มเติมสักนิดหนึ่ง

นักวิชาการจำนวนมาก มันจะเข้าใจผิดไปว่า พระพุทธเจ้ามีองค์เดียว  เป็นการเข้าใจผิดแบบโง่ๆ บ้าง แบบเชื่อไปตามวิทยาศาสตร์

ที่ต้องกล่าวอย่างนั้น เพราะ ในพระไตรปิฎกมีคำว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายอยู่เป็นจำนวนมาก พูดในแง่ภาษาศาสตร์ก็คือ ใช้คำว่า พระพุทธเจ้าแบบพหูพจน์เป็นจำนวนมาก

พระพุทธเจ้าองค์อื่นๆ อยู่ที่ไหน 

อายตนะนิพพานนั้น มีแห่งเดียว แต่แบ่งแยกย่อยภายในหลากหลายรูปแบบมาก  นิพพานเป็นก็อยู่ในนั้น  นิพพานของจักรพรรดิก็อยู่ในนั้น นิพพานกายธรรมอย่างเช่นพระพุทธเจ้าเราก็อยู่ในนั้น

รู้เพียงแค่นี้ก็พอ อย่าไปอยากรู้ละเอียดเหมือนภพ 3 เพราะ ไม่เป็นอย่างนั้น

พระพุทธเจ้าของเรานี่ อยู่ชั้นต่ำสุด  เมื่อเราไปถึงพระพุทธเจ้าของเราแล้ว อยากจะเข้าไปหาพระพุทธเจ้าก่อนหน้านี้  เราต้องทำแบบนี้

เราต้องลำดับดวงธรรม 6 ดวงในท้องของพระพุทธเจ้า  เมื่อทำเสร็จแล้ว เราก็จะไปถึงอายตนะนิพพานที่ 2 คือ นิพพานของพระกัสสปพุทธเจ้า

เราก็จะเห็นกายธรรมพระอรหัตเต็มไปหมด นิพพานจะสว่างด้วย รัศมีของกายธรรม พระกัสสปพุทธเจ้าจะประทับนั่งอยู่กลาง รัศมีสว่างกว่าพระสาวก

เราก็ต้องเอาใจของเรา เข้าไปตามฐานที่ 1-2-3 และ 7 ของพระกัสสปพุทธเจ้า แล้วเอาดวงธรรมของเรากับของพระองค์ซ้อนกัน  จะทูลถามอะไรก็เชิญ  อยากจะไปหาพระโกนาคมนพุทธเจ้า ก็ลำดับดวงธรรม 6 ดวงอีก